top of page
Reviewing Reports at Desk

เกี่ยวกับเรา

logo1.png

สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย (สตท.) เป็นองค์กรวิชาชีพที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2531 โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบภายในทั้งจากภาคราชการและภาคธุรกิจเอกชน โดยได้ยื่นคำขอจัดตั้งสมาคมฯ ต่อสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อเดือนธันวาคม 2529 และ  ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 ดังใบอนุญาตจัดตั้งสมาคม เลขอนุญาตที่ ต.๖๙๓/๒๕๓๑ จากนั้นจึงได้ส่งเรื่องให้กรมตำรวจสอบประวัติคณะกรรมการผู้ก่อตั้ง ตลอดจนตั้งผู้จัดการสมาคม เมื่อเดือนสิงหาคม 2532  

สตท. จัดตั้งขึ้นโดยผู้ก่อตั้งมีแนวคิดต้องการให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ทั้งในด้านวิชาการและแนวความคิดใหม่ ๆ ของระบบการตรวจสอบภายใน ทั้งยังเพื่อสร้างเสริมวิชาชีพตรวจสอบภายในให้เป็นเลิศ ด้วยการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้มีมาตรฐานทัดเทียมสากล เนื่องจากท่านตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบภายในที่ดี มีจริยธรรม จะส่งผลให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จและนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติได้ 
 

ผู้ก่อตั้งสมาคม

ผู้ก่อตั้งสมาคม

นายทำนุ ธรรมมงคล

 

การศึกษา
บช.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ม.
MA. ทาง Business & Distributive Education จาก Michigan State University, USA. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

 

ตำแหน่งปัจจุบัน
ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาส่วนพระองค์
ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ/กรรมการอิสระ บริษัท เงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)
ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ/กรรมการอิสระ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตรวจสอบภายในภาคราชการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ บริษัท สำนักงานสอบบัญชีศิริมงคล จำกัด
กรรมการ บริษัท บ้านบึงเวชกิจ จำกัด
กรรมการ บริษัท สุวรรณชาด จำกัด
กรรมการ บริษัท มงคลชัยพัฒนา จำกัด
ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมการ สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย

 

วิสัยทัศน์ในแง่มุมต่าง ๆ
ประธานชมรมผู้ตรวจสอบภายใน
เนื่องจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ทำงานอยู่เป็นสมาชิกของ IIA ท่านอาจารย์ทำนุจึงได้ศึกษาตำราเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในที่เป็นมาตรฐาน และนำเอาระบบการตรวจสอบสมัยใหม่มาใช้ ทำให้สังคมเริ่มรู้จักอาจารย์และได้เชิญไปบรรยาย บรรดาลูกศิษย์จึงขอให้ช่วยจัดตั้งชมรมผู้ตรวจสอบภายใน และในฐานะที่ท่านเป็นประธานชมรมผู้ตรวจสอบภายในจึงได้ทำหนังสือถึง IIA เพื่อให้มีการจัดสอบ CIA ในประเทศไทย แต่ก็ติดขัดตรงที่ทาง IIA บอกว่าการจัดสอบ CIA ต้องเป็นสถาบันระดับสมาคมผู้ตรวจสอบภายใน หรือสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการดำเนินการจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งเป็นสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทยขึ้น

 

การทำงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9)
เนื่องจากท่านอาจารย์ทำนุเป็นประธานกรรมการ บริษัทสำนักงานสอบบัญชีศิริมงคล จำกัด ประกอบกับน้องสาวทำงานอยู่ในวงดนตรี อส. จึงมีโอกาสได้ทำงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ และเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับกิจการของพระองค์ท่านโดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านอาจารย์ทำนุได้เปิดเผยความรู้สึกว่า “พระองค์ท่านน่ารักมาก ไม่เคยลืมบุญคุณคนเลย ผู้ที่เข้าไปเฝ้าถึงจะรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานี่ดีที่สุดในโลก รับรองได้เลยว่าไม่มีประเทศไหนมีพระมหากษัตริย์แบบนี้ นโยบายธุรกิจของพระองค์ท่านกำหนดไว้ชัดเจนเลยครับ เอาแค่เกือบขาดทุน ในอดีตบริษัททั้งหมดขาดทุนหมด แต่หลังจากที่ผมเข้าไปเป็นกรรมการใน 3 บริษัทของส่วนพระองค์ ก็ได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้พระองค์ท่าน ตอนนี้ทั้ง 3 บริษัทเริ่มมีกำไรแล้ว”

 

เพื่องานสังคม
นอกจากงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ท่านอาจารย์ทำนุยังเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบบริษัทมหาชนอีก 2 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่พระมหากษัตริย์มีหุ้นอยู่ คือบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทย ประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำหรับบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด ยังได้รับโล่ห์ Good Governance จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ยังเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตรวจสอบภายในภาคราชการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นมา 4 วาระจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 8 แล้ว

 

สายใยแห่งครอบครัว
เกี่ยวกับชีวิตครอบครัวนั้น ท่านอาจารย์ทำนุเล่าให้ฟังว่า “คุณชลี (คุณอัญชลี) ภรรยาผมเป็นคนฝั่งธนฯ เจอกันที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้แต่งงานและมีลูกชายด้วยกัน 2 คน คนโตชื่อ กฤตส์ คนที่ 2 ชื่อ กลศ ทั้งสองคนจบปริญญาโท ทุกคนมีงานทำหมดแล้ว คุณชลีนั้นตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการกองคลังของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อลูกทั้งสองคนมีงานทำเรียบร้อยแล้ว ผมก็ถือว่าผมหมดหน้าที่ ผมก็มุ่งหน้างานส่วนใหญ่ไปในเรื่องของสังคมกับงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” สำหรับชีวิตครอบครัวของท่านนั้นใคร ๆ ที่ได้พบเห็นมักจะชื่นชม และแอบอิจฉาท่านอาจารย์ทำนุ เพราะคุณอัญชลีภรรยาของท่านอาจารย์ช่างเป็นสุภาพสตรีที่งาม
เพียบพร้อมดั่งเบญจกัลยาณีจริง ๆ

 

ความสุขในชีวิต
“ที่ผมสบายใจก็คือ ได้ไปรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมถือว่าเป็นบุญกุศลที่สูงสุดแล้วและเป็น ความสุขมากๆ ด้วย ทำมาตลอดเวลาไม่เคยคิดว่าจะได้ผลตอบแทนจากพระองค์ท่านแม้แต่บาทเดียว ไม่เคยคิดจริง ๆ แม้กระทั่งลูกน้องที่ไปทำงานสอบบัญชีไม่เอาเงิน ก็เอาเงินผมจ่าย เพราะเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทางไม่เคยคิดจะเอาจริง ๆ เพราะถือว่าเรามีบุญได้ไปรับใช้พระองค์ท่านเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว นั่นคือความสุขที่ได้รับในปัจจุบันคือเราอยู่มาถึงอายุขนาดนี้ ผมว่าเงินทองเรื่องเล็กแล้วและผมก็ไม่ได้ยากจนถึงขนาดไปขอใครเขากิน ลูกเต้า ภรรยาก็มีความสุขกันพอสมควรแล้ว อะไรที่ได้รับใช้พระองค์ท่านผมก็อยากถวาย เคยกราบบังคมทูลพระองค์ท่านว่ามีอะไรให้ทำรับสั่งมายินดีจะสนองพระบรมราชโองการทุกอย่าง”

 

ความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต
“สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ ของขวัญที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ก็มีเหรียญตรารัตนาภรณ์ ชั้น 4 นาฬิกาข้อมือไซโก้ ภปร. และล่าสุดก็คือรถยนต์ TOYOTA CAMRY ซึ่งไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รับอะไรจากพระองค์ท่าน เพียงแต่ว่ามีเจตนาแน่วแน่จะไปช่วยดูแลผลประโยชน์ในเรื่องธุรกิจของพระองค์ท่านให้ดีที่สุด” 
ข้อเสนอแนะสำหรับน้อง ๆ ที่อยู่ในวิชาชีพตรวจสอบภายใน


“ผมเห็นว่างานวิชาชีพตรวจสอบภายในเป็นวิชาชีพที่ดีที่สุดในกระบวนการบริหารงานทั้งหมด ถ้าไปดูประวัติศาสตร์ของผู้บริหารสูงสุดของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น ผ่านงานตรวจสอบภายในกันทั้งนั้นเป็นงานเดียวที่สามารถเข้าไปเรียนรู้ เข้าไปตรวจสอบ เข้าไปศึกษาในระบบทุกระบบของธุรกิจซึ่งสามารถจะไปบริหารงานได้อย่างดี และก็ปัญหาใหญ่ของเราก็คือว่าเท่าที่สังเกตก็ยังมีหลายบริษัทที่ใช้ Audit ผิด หรือตัว Auditor ก็ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นถ้าทำอะไรยังไม่เป็นมาตรฐานจะทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือในวิชาชีพนี้ จะทำยังไงที่จะช่วยกันสนับสนุนพวก Auditor ที่ยังไม่ได้มาตรฐานเข้ามาเรียนรู้ หรืออบรมผู้บริหารให้เข้าใจงานตรวจสอบภายในที่แท้จริงซะก่อน concept อันแรกที่ผมใช้ในงานตรวจสอบของผมมาและก็ได้ผลก็คือว่า ข้อบกพร่องที่ตรวจพบเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงแก้ไขในอนาคตมากกว่าจะเป็นข้อมูลในการลงโทษ ยกเว้นกรณีทุจริตและประพฤติมิชอบ ถ้านอกนั้นไม่มีสิทธิจะไปเล่นงานใคร เอามาเป็นข้อมูลให้ทำต่อไปให้มันดีขึ้นมาให้ได้ เรื่องที่จะไปเล่นงานคน ไม่เคยคิดอยู่ในใจเลย ไม่ว่าทำงานที่ไหนก็เหมือนกันคิดตลอดเวลาว่าช่วยเขา แล้วทุกอย่างจะดี”

ความคาดหวังสำหรับงานของสมาคมฯ ในอนาคต
“อยากให้สมาคมฯ มุ่งมั่นในการให้วิชาชีพการตรวจสอบภายในเป็นที่ยอมรับกันจริง ๆ อย่าไปห่วงเรื่องกฎหมาย ถ้าเราทำดีกฎหมายจะเข้ามาหาเอง ไม่ต้องไปขอกฎหมายหรอกครับ สิ่งที่อยากได้มาก ๆ คือ อยากได้ CIA THAILAND เพราะว่าจะเป็นมาตรฐานของประเทศไทย สมาคมฯ จะต้องสร้าง Auditor ที่มีมาตรฐานให้มาก ๆ ในชีวิตผมก็มุ่งมั่นเรื่องนี้มาตลอด ตั้งแต่จบบัญชีจากจุฬา ฯ มาก็พยายามทำตลอดเวลาที่จะให้การตรวจสอบภายในเป็นวิชาชีพที่จะสามารถช่วยยกระดับประเทศได้ ก็คิดว่าทำสำเร็จก็นอนตายตาหลับก็ขอฝากรุ่นน้อง ๆ ไว้ก็แล้วกันครับ”

ผู้ก่อตั้ง.jpg

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง

  • ยกมาตรฐานการปฏิบัติงานทางด้านตรวจสอบภายในของสมาชิกให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลโลก

  • เผยแพร่บทบาทวิชาชีพต่อองค์การธุรกิจ ราชการ ในการบริหารงาน

  • ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานดีเด่นของสมาชิกให้เป็นที่ยอมรับของวงการต่างๆ

  • ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ที่ประกอบวิชาชีพการตรวจสอบภายใน และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีกับเพื่อนวิชาชีพอื่น

  • เป็นแหล่งกลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข่าวสารแก่สมาชิก และผู้เกี่ยวข้องในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพและสังคม

  • ไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง

  • ไม่มีนโยบายหรือเจตนาจะตั้งโต๊ะบิลเลียดเพื่อเล่นการพนันหรือพนันเอาทรัพย์สินแต่อย่างใด 

การเข้าร่วมเป็น Affiliate กับ IIA

สตท. ได้เข้าร่วมเป็น Affiliate กับสมาคมผู้ตรวจสอบภายในสากล (The Institute of Internal Auditor-IIA) ในปี 2540 เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพรวมถึงงานตรวจสอบภายในในประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล โดยนำมาตรฐานวิชาชีพตรวจสอบภายใน  แนวปฏิบัติและเทคนิคด้านการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลกิจการมาประยุกต์และเผยแพร่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย

กิจกรรมหลักของสตท.

สตท. ดำเนินกิจกรรมที่มุ่งเน้นเพื่อส่งเสริม พัฒนาบุคลากรและวิชาชีพตรวจสอบภายใน ดังนี้

 

  • กิจกรรมการฝึกอบรมและพัฒนาวิชาชีพ สมาคมฯ จัดอบรมหลักสูตรตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนถึงระดับผู้บริหาร เพื่อพัฒนาทักษะของผู้ตรวจสอบภายใน กว่า 30 หลักสูตร โดยนำเสนอผ่าน Public Training, In-house Training, การอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตร และการสัมมนาใหญ่ประจำปี
     

  • กิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาชีพ เช่น การจัดเสวนาคลีนิคไอเอ การบรรยายความรู้เบื้องต้นของงานตรวจสอบภายในในสถาบันการศึกษา และการจัดทำหนังสือวิชาการ หรือการแปลบทความ เอกสาร หนังสือวิชาการภาษาต่างประเทศ 
     

  • กิจกรรมการจัดสอบเพื่อรับวุฒิบัตรด้านการตรวจสอบภายใน โดยสตท. เป็นตัวแทนเพียงผู้เดียวในประเทศไทยที่มีสิทธิ์ดำเนินการสอบเพื่อรับวุฒิบัตรทางวิชาชีพตรวจสอบภายในที่พัฒนาโดย IIA คือ Certified Internal Auditor-CIA, Certified Control Self Assessment-CCSA, Certified Governance Audit Professional-CGAP และ Certified Financial Services Auditor-CFSA เพื่อให้ผู้ตรวจสอบภายในได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตนในระดับสากล  รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ตรวจสอบภายใน เช่น Certified Professional Internal Auditors, Qualified Internal Auditors - QIA, Certified Professional Government Internal Auditors - CPGIA และ CPIAT 
     

  • กิจกรรมการบริการจัดอบรมแก่องค์กรพันธมิตร 
     

  • กิจกรรมเพื่อสมาชิก จัดทำช่องทางการสื่อสารและให้บริการแก่สมาชิก ผ่านทางการจัดทำจุลสาร ผู้ตรวจสอบภายใน รายไตรมาส ซึ่งบรรจุบทความวิชาการ และข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวิชาชีพ การพัฒนา Website และจัดให้มี Web board เพื่อให้สมาชิกได้รับทราบข่าวสารอย่างทันท่วงที และมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน  รวมถึงการจัดทำห้องสมุด เพื่อให้สมาชิกได้มีแหล่งข้อมูลเพื่อค้นคว้า

จรรยาบรรณสมาคม

 

หากสมาชิกท่านใด มีความประสงค์จะติดต่อคณะกรรมการสตท. หรือมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสตท. สามารถส่ง E-mail: auditor@theiiat.or.th หรือ

Tel 02 712 9124 ต่อ 108

ข้อบังคับ สมาคมผู้ตรวจสอบภายใน

คณะกรรมการสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย วาระปี พ.ศ. 2567-2568

Slide1.JPG
Slide2.JPG
Slide3.JPG

ทำเนียบนายกสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย (สตท.)

---------------------------------------------

  1. คุณทำนุ ธรรมมงคล 2531-2533

  2. คุณพิพัฒน์ ปุสยานนท์ 2534-2536

  3. คุณพิไล เปี่ยมพงศ์สานต์ 2537-2541

  4. คุณเกียรติศักดิ์ จีรเธียรนาถ 2542-2544

  5. คุณสิทธิชัย จันทราวดี 2545-2546

  6. คุณสุนา สิทธิ์เลิศประสิทธิ์ 2547-2548

  7. คุณขจรศักดิ์ อุทธาสิน 2549-2550

  8.  คุณวิชัย กิตติวิทยากุล 2551-2552

  9. คุณสุวรรณ ดำเนินทอง 2553-2554

  10. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑะกา 2555-2556

  11. คุณสุรพงษ์ ชูรังสฤษฏิ์ 2557-2558

  12. คุณฉันทนา สืบสิน 2559-2562

  13. คุณไชยโรจน์ ภัทรเกียรติพงษ์ 2563-2566

  14. คุณพงศ์ศักดิ์ แสงสิงคี 2567-2568

---------------------------------------------

bottom of page